โฉนดที่ดินมีกี่ประเภท สีตราครุฑต่างกันอย่างไร

โฉนดที่ดินมีกี่ประเภท สีตราครุฑต่างกันอย่างไร ในการที่บุคคล ๆ หนึ่งจะเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์แบบถูกต้อง ก็จะต้องมีหนังสือแสดงหลักฐาน หรือที่หลายคนเรียกเอกสารนี้ว่า โฉนดที่ดิน ซึ่งเป็นเอกสารยืนยันความเป็นเจ้าของในที่ดินนั้น ๆ แต่ก่อนที่จะไปเป็นเจ้าของที่ดินสักที่ ก็จะต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า โฉนดที่ดินมีกี่ประเภท และ สีตราครุฑต่างกันอย่างไร

โฉนดที่ดินมีกี่ประเภท

โฉนดที่ดินมีกี่ประเภท

ประเภทของโฉนดที่ดิน แบ่งได้ทั้งหมด 4 ประเภทหลัก โดยแต่ละประเภทก็จะมีการรับรองที่ต่างกันไป แล้วก็มีชื่อย่อกับสีที่ไม่เหมือนกันด้วย ดังนี้

  1. โฉนดที่ดินตราครุฑแดง (นส.4) หมายถึง โฉนดที่ดิน ที่ให้กรรมสิทธิ์กับเจ้าของอย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะนำไปขาย, โอน, จำนอง หรือค้ำประกันก็สามารถทำได้ แถมเป็น โฉนดที่ดิน ที่ให้ราคาสูง และมีระวางรูปถ่ายทางอากาศกับหมุดแสดงพื้นที่อย่างชัดเจน แต่ก็มีข้อควรระวังอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าถูกผู้อื่นครอบครองโดยปรปักษ์เป็นเวลา 10 ปี อาจผู้อื่นจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ได้
  2. โฉนดที่ดินตราครุฑเขียว (นส.3 ก) หมายถึง เอกสารที่แสดงสิทธิ์การครอบครองที่ดินเพื่อทำประโยชน์ใด ๆ ในพื้นที่ สามารถซื้อ, ขาย, จำนอง หรือโอนให้กันได้ หากต้องการขอออกเป็น โฉนด นส.4 สามารถถือเอกสารฉบับนี้ไปได้โดยที่ไม่ต้องรอการรังวัดติดประกาศ 30 วัน และมีระวางรูปถ่ายทางอากาศ แต่ต้องระวังในกรณีที่มีผู้อื่นเข้ามาครอบครองเกิน 1 ปี
  3. โฉนดที่ดินตราครุฑดำ (นส.3 / นส. 3 ข) หนังสือที่แสดงสิทธิ์การครอบครองที่ดินเพื่อทำประโยชน์ในพื้นที่ คล้ายกับ นส.3 ก แต่ไม่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ แล้วก็ไม่ได้มีการวัดพื้นที่อย่างละเอียด สามารถซื้อ, ขาย, โอนได้ แต่ต้องรอให้แน่ใจก่อนว่าที่ดินนี้สามารถออกโฉนดได้
    • นส.3 เป็นเอกสารที่ออกจากนายอำเภอท้องที่
    • นส.3 ข เป็นหนังสือที่ออกจากเจ้าหน้าที่ที่ดิน แต่ยังไม่ได้รับรองอย่างเป็นทางการ
    • ในส่วนของ โฉนดที่ดินตราครุฑดำ ทั้ง 2 ประเภทนี้ จะไม่มีระวางภาพถ่ายทางอากาศที่แน่ชัด เพราะจะมีแค่รูปร่างของที่ดิน, เนื้อที่ และแนวเขตเท่านั้น ดังนั้น การออกโฉนดเลยจะคล้ายกับ นส. 3 ก แล้วก็ต้องทำการติดต่อเจ้าหน้าที่ที่ดิน เพื่อให้เข้ามารังวัดพร้อมกับติดประกาศเป็นระยะเวลา 30 วัน หากไม่มีการยื่นคัดค้านก็จะออกโฉนดได้
  4. โฉนดที่ดินตราครุฑน้ำเงิน (ส.ป.ก.4–01) หมายถึง เอกสารที่ออกเพื่อให้เจ้าของทำเกษตรกรรมในที่ดิน โดยไม่สามารถซื้อ, ขาย, โอน, จำนอง หรือออกเป็นโฉนดได้ แต่สามารถปล่อยเช่าได้ เพราะเอกสารฉบับนี้จะออกให้กับผู้มีฐานะยากจน และสามารถส่งต่อให้ทายาทเพื่อเป็นมรดกสำหรับทำการเกษตรเช่นเดิม ถ้าเมื่อไหร่ที่ทำผิดเงื่อนไขก็จะถูกยึดที่คืนทันที นอกจากว่าไม่ต้องการทำเกษตรอีกต่อไปก็สามารถคืนรัฐได้ และสิ่งที่ต้องระวังอีกอย่างหนึ่งก็คือ เอกสารส.ป.ก.4-01 มีทั้ง ตราครุฑสีน้ำเงิน กับ ตราครุฑสีแดง จึงต้องสังเกตให้ดีว่าหัวข้อระบุว่าเป็น โฉนดที่ดิน หรือเป็น หนังสืออนุญาต
    • และทั้งหมดที่ว่ามาเป็น โฉนดที่ดิน ประเภทต่าง ๆ ที่ผู้ครอบครองจะต้องศึกษาไว้เป็นความรู้ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาการซื้อ – ขายขึ้นในอนาคต เพราะฉะนั้นการพิจารณาที่ดินที่มีเอกสารรับรองจะดีที่สุด นอกจากนี้ก็ยังมีเอกสารที่ดินย่อย ๆ อีก 3 ประเภท คือ
    • นส. 2 (ใบจอง) หมายถึง หนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินชั่วคราว แปลว่าผู้ที่มี นส.2 ต้องทำประโยชน์เกินกว่า 75% ภายใน 6 เดือน และต้องทำให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี โดย นส.2 ไม่สามารถซื้อ, ขาย หรือโอนได้ นอกจากจะให้เป็นมรดกกับทายาท
    • สทก. (สิทธิที่ดินทำกิน) หมายถึง หนังสือที่ออกโดยกรมป่าไม้ ซึ่งประชาชนสามารถทำกินบนพื้นที่ป่าไม้ได้ แต่ไม่สามารถซื้อ, ขาย หรือโอนได้ นอกจากจะให้เป็นมรดกกับทายาท และถ้าปล่อยให้ที่ดินรกร้างเกิน 2 ปี ก็จะถูกยึดคืน
    • ภ.บ.ท.5 (ใบชำระภาษีบำรุงท้องที่) หมายถึง ใบชำระภาษีบำรุงท้องที่ของผู้อยู่อาศัย เพื่อแลกกับการใช้ประโยชน์ในที่ดิน แต่ไม่มีสิทธิครอบครอง เพราะรัฐเป็นเจ้าของที่ดิน และไม่สามารถซื้อ, ขาย, หรือโอนได้ นอกจากจะให้เป็นมรดกกับทายาท