You are currently viewing กู้ กยศ. คืออะไร อยากกู้ ต้องทำอย่างไรบ้าง

กู้ กยศ. คืออะไร อยากกู้ ต้องทำอย่างไรบ้าง

กู้ กยศ. เป็นคำที่หลาย ๆ คนคงได้ยินผ่านหูกันมาบ้างแล้ว แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่า กยศ คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร หากใครที่อยากเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น แต่ติดอุปสรรคในเรื่องของการเงิน การทำเรื่องขอยื่นกู้ กยศ. ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่อยากเรียนต่อ และไม่อยากล้มเลิกความตั้งใจในเรื่องเรียน เพราะอุปสรรคในเรื่องเงิน

บทความของ SCNews ในวันนี้จะมาขยายความเข้าใจในเรื่อง กยศ. เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการศึกษาต่อ พร้อมทั้งวิธีการยื่นขอกู้ด้วยว่า ต้องเตรียมอย่างไร ใช้เอกสารอะไรบ้าง และมีเงื่อนสัญญากู้แบบใด หากพร้อมแล้ว เรียนเชิญทุกท่านไปอ่านเนื้อหาต่อ ๆ ไปได้เลย

กู้ กยศ. คืออะไร

ขอขยายความก่อนว่า กยศ. ย่อมาจาก กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือนักเรียน และนักศึกษาที่ต้องการเงินทุนไปศึกษาต่อ โดยครอบคลุมทั้งในค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าเทอม และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

เมื่อผู้ที่ทำการกู้ กยศ. ศึกษาจบและออกมาทำงานแล้ว ต้องทำการผ่อนชำระเงินคืนให้กับกองทุน กยศ. ซึ่งทาง กยศ. กำหนดระยะเวลาชำระหนี้ โดยให้ผู้กู้ชำระเงินกู้คืนให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี นับจากวันที่เริ่มต้องชำระหนี้ หากชำระหนี้ล่าช้า จะต้องชำระค่าปรับตามที่ กยศ. กำหนด

อัปเดตปี 2568 ใครที่กู้ กยศ. ได้บ้าง?

หลายคนเข้าใจผิดว่า กยศ. เป็นเงินกู้เฉพาะนักศึกษาปริญญาตรีเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง สามารถกู้ได้ทั้งนักเรียนมัธยมปลาย สายสามัญ สายอาชีพ รวมไปถึงนักศึกษาปริญญาตรี ซึ่งในปีการศึกษา 2568 ทาง กยศ. ได้ประกาศสนับสนุนเงินกู้ยืมแก่นักเรียนหรือนักศึกษา 3 กลุ่ม ดังนี้

  1. นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
  2. นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก และมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
  3. นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่ขาดแคลน หรือสาชาวิชาที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ

คุณสมบัติโดยทั่วไปของผู้ที่ต้องการ กู้ กยศ.

  • มีสัญชาติไทย
  • ศึกษาหรือได้รับการตอบรับให้เช้าศึกษาอยู่ในสถานศึกษาที่ร่วมดำเนินงานกับกองทุน
  • เป็นผู้ขอกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาในการเข้าศึกษาที่สถานศึกษาเพียงแห่งเดียวในคราวภาคการศึกษาเดียวกัน
  • มีผลการเรียนดี หรือผ่านเกณฑ์การวัดและประเมินของสถานศึกษา
  • ความประพฤติดี ไม่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของสถานศึกษาขั้นร้ายแรงหรือไม่เป็นผู้ที่มีความประพฤติเสื่อมเสีย เช่น หมกมุ่นในการพนัน เสพยาเสพติดให้โทษ ดื่มสุราหรือเที่ยวเตร่ในสถานบันเทิง เป็นต้น

การเตรียมเอกสารและลงทะเบียน

ผู้ที่สงสัยว่าการ กู้ กยศ. ใช้อะไรบ้าง เรามีข้อแนะนำในการเตรียมเอกสาร ดังนี้

  1. แบบคำขอกู้ยืมเงินที่จัดพิมพ์ออกจากระบบ e-Studentloan และแบบคำขอกู้ยืมเงินที่เป็นเอกสาร (แบบ กยศ.101)
  2. หนังสือให้ความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลทั้ง (2.1) ผู้กู้ยืม  (2.2) บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และ (2.3) คู่สมรส (ถ้ามี)
  3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านทั้ง (3.1) ผู้กู้ยืม  (3.2) บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และ (3.3) คู่สมรส (ถ้ามี)
  4. เอกสารประกอบการรับรองรายได้ของครอบครัว

กรณีมีรายได้ประจำ ใช้สลิปเงินเดือน หรือ หนังสือรับรองเงินเดือน

กรณีที่ไม่รายได้ประจำหรือไม่มีรายได้ ใช้แบบฟอร์ม กยศ.102 พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวเข้าหน้าที่ของรัฐ / ข้าราชการ / หัวหน้าสถานศึกษา

  • หนังสือแสดงความคิดเห็นของอาจารย์แนะแนวหรืออาจารย์ที่ปรึกษา (แบบ กยศ.103)
  • แผนที่แสดงที่ตั้งของที่อยู่อาศัย พร้อมรูปถ่ายที่อยู่อาศัยของ บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง
  • ใบแสดงผลการศึกษา / สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษาที่ผ่านมา
  • เอกสารอื่น ๆ ซึ่งสถานศึกษาขอเพื่อพิจารณาเพิ่มเติม

การกู้ กยศ. เริ่มจากลงทะเบียนผ่านระบบ e-Studentloan เพื่อขอรหัสผ่านเข้าใช้งาน > ยื่นคำขอ > ตรวจสอบคุณสมบัติ > กำหนดวงเงิน > ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิกู้ยืม > ทำสัญญา > ตรวจสอบสัญญา > บันทึกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา > ลงนามในแบบฟอร์ม > ตรวจสอบข้อมูล > นำส่งสัญญาให้ธนาคาร 

กู้ กยศ.

และนี่คือข้อมูลของการ กู้ กยศ. ที่ SCNews ได้นำเอามาขยายให้ทุกท่านได้ทำความเข้าใจกันในบทความนี้ ซึ่งพวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน ผู้ปกครอง หรือผู้ที่สงสัยในเรื่องการกู้ กยศ. เพราะการศึกษาคือรากฐานอันมั่นคงของชีวิต การกู้ กยศ. จึงอาจเป็นอีกหนึ่งทางออกที่ดี สำหรับผู้ที่มีความต้องการอยากจะเรียน แต่ติดอุปสรรคในเรื่องการเงิน