สิทธิประกันสังคม ทำฟัน เป็นสิทธิของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ตามที่สำนักงานประกันสังคมได้ประกาศเอาไว้ แต่สิทธิประกันสังคมในการทำฟัน ถือเป็นสิทธิเฉพาะปี หากผู้ประกันตนไม่ได้ใช้สิทธิในวงเงินดังกล่าว จะไม่มีการทบยอดไปในปีถัดไป เท่ากับว่าผู้ประกันตนจะเสียสิทธิ์ในการดูแลสุขภาพช่องปากในปีนั้น ๆ ไปในทันที เราจึงเขียนบทความนี้ เพื่อเป็นการเตือนให้ผู้ประกันตนอย่าลืมไปใช้สิทธิ์ของคุณ เพราะตอนนี้เข้าใกล้ช่วงสิ้นปี 2567 เข้าไปทุกทีแล้ว
สิทธิประกันสังคม ทำฟัน คืออะไร
สิทธิประกันสังคมทำฟัน คือ สิทธิที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 สามารถไปใช้สิทธิ์ทำฟันได้ฟรี โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง ในงบ 900 บาทต่อคนต่อปี โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ประกันตนในมาตรา 33 และ 39 ต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และสิทธิ์นี้ยังคุ้มครองผู้ประกันตนในกรณีที่ลาออกจากงานแล้วให้อีก 6 เดือน
ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิ์นี้ได้โดยไม่ต้องสำรองจ่ายก่อนอีกด้วย เพียงแค่เตรียมบัตรประชาชนไปเพื่อตรวจสอบสิทธิยืนยันตัวตน เบิกค่ารักษาด้วย Smart Card ที่อยู่บนบัตร แต่ถ้าหากผู้ประกันตนไมได้เตรียมบัตรประชาชนไป ต้องสำรองเงินจ่ายค่ารักษาไปก่อน แล้วค่อยนำแบบฟอร์มไปเบิกที่สำนักงานประกันสังคม
สิทธิประกันสังคม ทำฟันทำอะไรได้บ้าง
สิทธิการทำฟันของผู้ประกันตน สามารถเข้ารับการรักษาทางทันตกรรมได้ ดังต่อไปนี้
- ขูดหินปูน เป็นการขจัดคราบหินปูนที่เกาะบริเวณฟันและซอกฟัน ช่วยป้องกันโรคเหงือกและฟันที่อาจเกิดขึ้นจากการสะสมของหินปูนปริมาณมากๆ โดยปกติแล้ว ทันตแพทย์จะแนะนำให้ขูดหินปูนทุก ๆ 6 เดือน
- อุดฟัน เป็นการซ่อมแซมเนื้อฟันที่มีรอยผุ เพื่อให้สามารถใช้ฟันได้ตามปกติ โดยทันตแพทย์จะใช้วัสดุสีเหมือนฟันในการอุดฟัน.
- ถอนฟัน สิทธิประกันสังคมทำฟัน ในกรณีที่ผู้ประกันตนมีรอยฟันผุที่มาก และมีอาการปวดฟันร่วมด้วย ทันตแพทย์จะทำการรักษาด้วยการถอนฟัน
- ถอนฟันคุด หรือ ผ่าฟันคุด ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจะทำการถอนหรือผ่าฟันกรามซี่ที่ 3 ที่ไม่สามารถโผล่ขึ้นมาในช่องปากได้ เพราะฟันคุดจะส่งผลให้ปวดหรือบวมเรื่อย ๆ หากไม่จัดการถอนหรือผ่าออกไป
การทำฟันปลอม
นอกเหนือจากสิทธิประกันสังคมทำฟันที่เราได้กล่าวไปในข้างต้นแล้ว สิทธิ์ยังครอบคลุมให้ผู้ประกันตนเบิกค่ารักษาในการทำฟันปลอมได้ ภายในเวลา 5 ปีอีกด้วย โดยแบ่งเป็น 2 กรณีดังนี้
- ฟันปลอมชนิดถอดได้บางส่วน จำนวน 1-5 ซี่ เบิกได้เท่ากับจ่ายจริง ในวงเงินไม่เกิน 1,300 บาท ส่วนฟันปลอมจำนวน 5 ซี่ เบิกได้เท่ากับจ่ายจริง วงเงินไม่เกิน 1,500 บาท
- ฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือล่าง เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกิน 2,400 บาท ในระยะ 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันปลอม ส่วนฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปากบนและล่าง เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกิน 4,400 ในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันปลอม
สิทธิประกันสังคม ทำฟัน ทำได้ที่ไหนบ้าง
สำหรับผู้ประกันตนที่ต้องการใช้สิทธิ์ประกันสังคมเพื่อการรักษาทางทันตกรรม สามารถใช้สิทธิ์ได้ทั้ง โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และคลินิกทันตกรรมที่เข้าร่วมโครงการของสำนักงานประกันสังคมได้เลย โดยส่วนใหญ่ สถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการสิทธิประกันสังคมทำฟัน จะมีป้ายประชาสัมพันธ์แจ้งให้ทราบอยู่แล้ว และผู้ประกันตนอย่าลืมนำเอาบัตรประชาชนไปยืนยันตนเองด้วย เพื่อที่จะไม่ได้ต้องสำรองเงินจ่ายไปก่อน
หวังว่าบทความในวันนี้ จะช่วยเตือนความจำให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 ได้ออกไปใช้ สิทธิประกันสังคม ทำฟัน ก่อนจะสิ้นสุดปี 2567 นี้ เพราะสุขภาพของช่องปากเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยเช่นกัน