You are currently viewing เงินชราภาพ ประกันสังคม มาตรา 33 อุ่นใจเมื่อเกษียณ

เงินชราภาพ ประกันสังคม มาตรา 33 อุ่นใจเมื่อเกษียณ

เงินชราภาพ ประกันสังคม มาตรา 33 ช่วยให้ผู้ประกันตนวางแผนการเกษียณได้อย่างอุ่นใจ เพราะมีเงินชราภาพจากสำนักงานประกันสังคมคอยดูแล หากมีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไข สามารถเลือกรับสิทธิ์ได้ เงินบำเหน็จชราภาพ – เงินบำนาญชราภาพ ตามที่ผู้ประกันตนต้องการ ซึ่งบทความของ SC News ในวันนี้ จะขอพาทุกท่านไปทำความเข้าใจกับเงื่อนไขของเงินชราภาพของสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้ผู้ประกันตนได้ตรวจสอบสิทธิ์ของตนเอง และสามารถวางแผนทางการเงินเพื่อการเกษียณอย่างมีคุณภาพ

เงินชราภาพ ประกันสังคม มาตรา 33  คืออะไร

เงินบำนาญชราภาพ คือ เงินกรณีชราภาพที่ประกันสังคมจ่ายให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เป็นรายเดือนตลอดชีวิต โดยแบ่งออกเป็น 2 แบบดังนี้

  1. เงินบำเหน็จชราภาพ ได้รับเงินก้อนครั้งเดียว มี 2 เงื่อนไข
    • จ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน ได้รับเงินในจำนวนเท่าที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ
    • จ่ายเงินสมทบมากกว่า 12 เดือน แต่ไม่ถึง 180 เดือน รับจำนวนเงินเท่าที่ผู้ประกันตนจ่าย+เงินสมทบนายจ้าง+ผลประโยชน์ตอบแทน
  2. เงินบำนาญชราภาพ จะได้รับเงินรายเดือนตลอดชีวิต มีอยู่ 2 เงื่อนไข
    • จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน ได้รับเงินเท่ากับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
    • จ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ได้รับเงินเพิ่มปีละ 1.5%

กรณีที่ผู้ประกันตนเสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับตั้งแต่เดือนที่ได้รับเงินชราภาพ ให้จ่ายเงินบำเหน็จแก่ทายาทเป็นจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพเดือนสุดท้าย

เงื่อนไขในการรับเงินชราภาพ

  • ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33
  • มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
  • เป็นผู้ทุพพลภาพหรือเสียชีวิต

วิธีคำนวณ เงินชราภาพ ประกันสังคม มาตรา 33

ในกรณีที่ผู้ประกันตนเลือกสิทธิ์รับเงินชราภาพในรูปแบบเงินบำนาญ สามารถคำนวณจำนวนเงินบำนาญได้ดังนี้

  • กรณีจ่ายเงินสมทบ 180 เดือน : จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ ก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
  • กรณีจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน : ได้รับเงินบำนาญชราภาพเพิ่มขึ้นอีก 1.5%ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน

ยกตัวอย่าง หากผู้ประกันตนได้รับค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาทมาตลอด และส่งเงินสมทบมาแล้ว 20 ปี เมื่ออายุครบ 55 ปีจะได้รับเงินบำนาญ โดยมีวิธีคำนวณ แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 : ผู้ประกันตนส่งเงินครบ 180 เดือน (15 ปี) จะได้รับเงินบำนาญ 20%

ส่วนที่ 2 : ในปีที่ 16 – ปีที่ 20 (5 ปี) จะได้รับอัตราเงินบำนาญ เพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อปี

รวมอัตราเงินบำนาญ 20 ปี จะได้ 20% + 7.5% = 27.5%

ดังนั้น ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญรายเดือน = 27.5% ของ 15,000 บาท คือ 4,125 บาทต่อเดือนตลอดชีวิต

เอกสารสำคัญที่ต้องเตรียมเพื่อรับ เงินชราภาพ ประกันสังคม มาตรา 33

ผู้ประกันตนมาตรา 33 เมื่อถึงเวลาที่อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เลือกรับสิทธิ์ระหว่าง เงินบำเหน็จชราภาพ – เงินบำนาญชราภาพ พร้อมเตรียมเอกสารสำคัญ 3 อย่าง เพื่อยื่นที่สำนักงานประกันสังคม แล้วรอรับเงินได้เลย

  1. สำเนาบัตรประชาชน
  2. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ สปส. 2-01
  3. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ หากมีพร้อมเพย์ที่ลงทะเบียนด้วยเลขบัตรประชาชนก็สามารถใช้ได้เช่นกัน