เทคนิคการผ่อนบ้านให้หมดไว และ การรีไฟแนนซ์บ้านให้ผ่อนถูกลง

เทคนิคการผ่อนบ้านให้หมดไว และ การรีไฟแนนซ์บ้านให้ผ่อนถูกลง หลายคนที่มีภาระในการผ่อนบ้านคงเข้าใจกันดีว่า ในแต่ละเดือนที่เราต้องจ่ายเงินออกไปนั้น มันจะมีจำนวนเงินที่เรียกว่าเงินต้น และดอกเบี้ย ถ้าเราไม่อยากให้ภาระการผ่อนบ้านนี้ยาวนานเกินไป ก็ลองนำ เทคนิคการผ่อนบ้านให้หมดไว และ การรีไฟแนนซ์บ้านให้ผ่อนถูกลง ไปปรับใช้กันดู

เทคนิคการผ่อนบ้านให้หมดไว

          เทคนิคการผ่อนบ้านให้หมดไวถ้าสรุปให้เข้าใจอย่างสั้น ๆ ก็คือ เราจะต้องจ่ายเงินเกินกว่าจำนวนที่ถูกกำหนดไว้ในแต่ละเดือน เพราะเงินส่วนที่เกินจะถูกนำไปหักเป็นเงินต้น โดยส่วนใหญ่นิยมกัน 2 วิธี คือ

เทคนิคการผ่อนบ้านให้หมดไว
  1. ชำระเงินเกินทุกงวด เรียกว่าเป็นการกระจายเงินไปในแต่ละเดือน ในจำนวนที่เท่ากันเป็นเวลา 1 ปี พอเข้าปีที่ 2 ให้เพิ่มจำนวนเงินขึ้น เช่น ปีแรกจ่ายเดือนละ 10,000 บาท เมื่อเข้าปีที่ 2 จ่ายเพิ่มอีก 3,000 บาท พอครบรอบปีเราก็จะมีจำนวนเงินเกิน 36,000 บาท ซึ่งเงินในส่วนนี้จะถูกนำไปหักเป็นเงินต้น
  2. โปะเงินเพิ่มปีละครั้ง การจ่ายเงินเพิ่มแบบนี้มีความแตกต่างจากแบบแรก เพราะว่าจะเป็นการจ่ายเท่ากันในทุกปี แต่ในงวดสุดท้ายของปีที่ 2 ให้จ่ายเป็นเงินก้อน ซึ่งเงินในงวดสุดท้ายนี้ก็จะถูกหักออกเป็นเงินต้นเช่นกัน ทำให้การผ่อนบ้านจบเร็วกว่าเดิม

ซึ่งทางเลือกแรกเป็นวิธีที่เหมาะกับผู้ที่มีภาระค่าใช้จ่ายที่แน่นอนเท่านั้น เพราะการจ่ายเงินแต่ละครั้งจำเป็นต้องมีการวางแผนไว้ก่อน เพื่อที่จะได้ไม่เดือดร้อนในภายหลัง เมื่อหักเงินในส่วนนี้ไปแล้วก็ยังพอมีเหลือใช้ ส่วนวิธีที่ 2 จะเหมาะกับผู้ที่มีรายได้หลายทาง หรือมีเงินพิเศษที่มั่นใจว่ามีมากพอที่จะนำมาโปะได้ แต่ไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ตามมันแสดงให้เห็นว่า การจ่ายเงินแบบนี้สามารถลดหนี้ได้จริง และถ้าหากเราประสบกับปัญหาการเงินแล้วรู้ว่าอาจจจ่ายไม่ไหว ก็ควรปรึกษาสถาบันการเงินก่อนเพื่อที่จะได้หาทางแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนดอกเบี้ย หรือการพักชำระหนี้ เพราะถ้าเราเงียบไปเฉย ๆ อาจทำให้ดอกเบี้ยที่หนักอยู่แล้วเพิ่มพูนขึ้นมาอีก

เทคนิคการผ่อนบ้านให้หมดไว

การรีไฟแนนซ์บ้านให้ผ่อนถูกลง

ส่วนใหญ่ของคนมีบ้านจะรู้ว่าเมื่อผ่อนบ้านครบ 3 – 5 ปี ก็ถึงเวลาของ การรีไฟแนนซ์บ้านให้ผ่อนถูกลง ถ้าจะให้ดีต้องศึกษาข้อมูลให้ตรงโจทย์ และทำการเปรียบเทียบที่นำมาซึ่งความคุ้มค่า โดย การรีไฟแนนซ์ จะมีหลายเงื่อนไขที่ต้องพิจารณา ดังนี้

  1. สัญญาเงินกู้กับธนาคารเดิม ต้องตรวจสอบว่าภายในสัญญาระบุระยะเวลาในการผ่อนอย่างน้อยกี่ปี จึงจะสามารถยื่นเรื่องกับธนาคารใหม่ได้ เพราะถ้าไปยื่นเรื่องโดยยังไม่ครบกำหนดทำให้ถูกปรับค่าขอไถ่ถอนหนี้
  2. ดอกเบี้ยของธนาคารใหม่ เราควรพิจารณาแล้วทำการเปรียบเทียบ ซึ่งการคำนวณให้คิดจากอัตราดอกเบี้ยในปีแรก – ปีสุดท้ายของสัญญา เมื่อเห็นตัวเลขก็จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
  3. ค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ ในข้อนี้จะคล้ายกับการขอสินเชื่อครั้งแรก โดยมันจะมีทั้งค่าประเมินหลักประกัน, ค่าธรรมเนียมการจดจำนอง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แนะนำให้ดูโปรโมชั่นเป็นทางเลือกก่อนตัดสินใจ
  4. ระยะเวลาในการผ่อน สามารถเลือกได้ว่าจะลดเวลา โดยการเพิ่มจำนวนเงินในการผ่อนเพื่อให้ภาระหมดไวขึ้น หรือจะยืดเวลาในการจ่ายเงินจำนวนน้อย แล้วค่อยนำเงินมาโปะในบางเดือนก็สามารถทำได้
  5. ประกัน MRTA เป็นการคุ้มครองความเสี่ยงถ้าเราไม่สามารถผ่อนบ้านได้ ซึ่งอาจเนื่องมาจากเกิดเหตุที่ไม่คาดฝัน โดยเราจะเลือกการคุ้มครองแบบ 100% หรือจะเลือกคุ้มครองแค่บางส่วนก็ได้
  6. เลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม ควรยื่นเรื่องภายในช่วงเวลา 30 – 45 วัน ก่อนครบกำหนดสัญญาจากธนาคารเดิม เพื่อที่ธนาคารใหม่จะได้มีเวลาตรวจสอบ และอนุมัติสินเชื่อได้ทัน
  7. ขอวงเงินกู้เพิ่ม ในกรณีนี้สามารถขอเพิ่มได้หากราคาประเมินสูงกว่าธนาคารเดิม ซึ่งเราสามารถเอาไปใช้ได้ตามต้องการ แต่ก็อย่าลืมว่าการขอเงินกู้เพิ่มหมายถึงอัตราดอกเบี้ยที่มากขึ้น หากไม่จำเป็นก็ไม่ควรขอกู้