ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การคำนวณและการจ่ายภาษี ปี 2566

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การคำนวณและการจ่ายภาษี ปี 2566 ก่อนหน้านี้มีกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดิน กับภาษีบำรุงท้องที่ที่ดูแล้วมีความซ้ำซ้อนกัน ดังนั้น จึงมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นกฎหมาย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งหลายคนก็อาจจะไม่ค่อยคุ้นชินสักเท่าไหร่ งั้นวันนี้เราจะมาดูความหมายแบบกระชับ พร้อมทั้งแนะนำ การคำนวณและการจ่ายภาษี ปี 2566 เพื่อการเข้าใจที่ง่ายขึ้น

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ความหมาย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกล่าวให้สั้น ๆ ก็คือ การจ่ายภาษีรายปีให้กับองค์กรท้องถิ่น ซึ่งคิดมาจากมูลค่าที่ดิน หรือสิ่งก่อสร้างที่เราเป็นเจ้าของ โดยผู้ที่ต้องเสีย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะต้องยึดตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ 

  1. เจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์
  2. ผู้ครอบครอง หรือทำประโยชน์

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2566

1. ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม มีอัตราภาษีสูงสุดอยู่ที่ 0.15% แบ่งเป็นกรณีบุคคลธรรมดา ที่มีที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะไม่ต้องจ่ายภาษี แต่ถ้าที่ดินมีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป จะได้รับการยกเว้นแค่ 50 ล้านบาทแรก เงินส่วนที่เกินหลังจากนั้นจะต้องจ่ายภาษี ส่วนกรณีนิติบุคคลก็จ่ายภาษีที่ดินตามอัตราปกติ

2. ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย มีอัตราภาษีสูงสุดอยู่ที่ 0.30% แบ่งเป็นกรณีเจ้าของที่ดินกับสิ่งปลูกสร้าง และมีชื่อในทะเบียนบ้านหลังเดียว จะได้รับการยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท หากมูลค่าเกินจากที่กำหนดก็จะต้องจ่ายภาษีปกติ ยกเว้นถ้าเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีบ้านหลายหลัง จะไม่ได้รับการยกเว้นการจ่ายภาษี แต่ถ้าเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างอย่างเดียวบนพื้นที่ผู้อื่นจะได้รับการยกเว้นภาษี 10 ล้านบาทแรก หากมีเงินส่วนที่เกินจะต้องจ่ายภาษีตามปกติ

3. ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม มีอัตราภาษีสูงสุด 1.20% ในส่วนนี้จะแตกต่างจาก 2 ประเภทแรก เพราะว่าเป็นการสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดรายได้ เช่น โรงแรม, ร้านค้า, ห้องพัก ฯลฯ ซึ่งจะต้องจ่ายภาษีตามปกติ

4. ที่ดินเปล่า มีอัตราสูงสุด 3% หากไม่ได้ทำประโยชน์ใด ๆ ก็นับว่าเป็น ภาษีที่ดินเปล่า ที่มีอัตราการจ่ายภาษีที่แพงที่สุด ยิ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้นานถึง 3 ปี หากไปจ่ายภาษีในปีที่ 4 อัตราจะเพิ่มขึ้นอีก 0.3% ในทุก 3 ปี แต่ทั้งนี้จะเก็บภาษีไม่เกิน 3%

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

โดยหลัก ๆ แล้ว ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2566 ก็จะมีการเก็บภาษีแค่ 4 ประเภท เว้นแต่ว่าเจ้าของทรัพย์สินที่เป็นบุคคลธรรมดา จะได้รับมรดกตกทอดจากการอยู่อาศัยแล้วมีชื่อในทะเบียนบ้าน แต่ต้องจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมก่อนวันที่ 13 มี.ค. พ.ศ.2562 จึงจะได้ลดภาษีอีก 50% ของจำนวนภาษีที่ต้องจ่าย

การคำนวณ และการจ่ายภาษี

1. ที่ดินเปล่าไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ภาษีที่ต้องจ่าย = มูลค่าที่ดิน * อัตราภาษี

2. ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ภาษีที่ต้องจ่าย = (มูลค่าที่ดิน + มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง) * อัตราภาษี

3. ห้องชุด ภาษีที่ต้องจ่าย = มูลค่าห้องชุด * อัตราภาษี

4. มูลค่าที่ดิน ราคาประเมินทุนทรัพย์ (ต่อตารางวา) * ขนาดพื้นที่ดิน

5. มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง (ราคาประเมินทุนทรัพย์โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง (ต่อตารางเมตร) * ขนาดพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง) – ค่าเสื่อมราคา

6. มูลค่าห้องชุด ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด (ต่อตารางเมตร) * ขนาดพื้นที่ห้องชุด (ตารางเมตร) 

สถานที่ชำระภาษี

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ผู้เสีย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสามารถชำระเงินด้วยตัวเองได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของพื้นที่ เช่น กรุงเทพ ให้ไปที่สำนักงานเขตในพื้นที่ที่ทรัพย์สินตั้งอยู่ และพัทยา ให้ไปที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา ซึ่งปกติจะต้องชำระในช่วงเดือนเม.ย. 2566 แต่ก็ได้มีการขยายเวลาให้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2566 ถ้าเงินที่ต้องชำระมีมูลค่ามากกว่า 3,000 บาท สามารถขอผ่อนชำระได้ 3 งวด โดยไม่เสียดอกเบี้ย และถ้ามีการชำระภาษีช้าก็จะต้องถูกปรับไปตามกรณี เช่น ถ้าชำระก่อนจะได้รับหนังสือแจ้งเตือนจะถูกปรับ 10%, ถ้าชำระภายในเวลาตามหนังสือแจ้งเตือนจะถูกปรับ 20%, ถ้าชำระหลังจากที่กำหนดจะถูกปรับ 40% และถ้าไม่ได้ชำระเลยจะต้องเสียเงินเพิ่มอีก 1% ต่อเดือนของจำนวนภาษีค้างชำระ เพราะฉะนั้นหากไม่อยากถูกปรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็ต้องหมั่นเช็คข่าวให้บ่อย ๆ หน่อย